” 6 ข้อควรรู้ สำหรับนักเดินทางกับการท่องเที่ยวในปี 2021 ” ทุกๆ ปีพอถึงเวลาขึ้นปีใหม่ เรามักใช้เวลาช่วงนี้ในการเริ่มต้นตั้ง Timeline ชีวิตกันใหม่ทุกปี ผมเองก็เช่นกัน หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ปลายปี 2019 จนถึงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา เรายังได้วางแผนเดินทาง ใช้ชีวิตกันอย่างสนุกสนานได้ หลายคนมีแผนเดินทางไปต่างประเทศ เรายังถามไถ่กัน และ กัน นัดหมายซื้อตั๋วบินไปประเทศนั้น ประเทศนี้กันอยู่ แต่พอพ้น 3 เดือนแรกอย่างที่เรารู้กันดี ชีวิตมันก็พลิกไปแบบตั้งตัวกันแทบไม่ติด เราเข้าสู่ปีแรกของทศวรรษใหม่ ด้วยชื่อเรียกแบบขำไม่ออกกันว่า ปีโควิดที่ 1 (ตอนนี้มันเข้าสู่ปีที่ 2 แล้วสิ ไม่ควรมีปีที่ 3,4 ต่อไป)
ณ. ตอนที่ผมกำลังเขียนบทความนี้อยู่( ปลายมกราคม 2021 ) ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะพยายามเขียนจากประสบการณ์เดินทางจริงในช่วงตั้งแต่คนไทยเราพ้นภาวะกักตัวจนถึงปัจจุบัน เก็บตั้งเป็นข้อสังเกตุของผมเองล้วนๆ
มาลองเช็คกันดูดีกว่าว่าเราควรเตรียมพร้อมตัวเองกันแบบไหนมันถึงจะปลอดภัย และ ยังเดินทางพาครอบครัวไปมาได้ ทั้งหมดไม่มีผิดไม่มีถูกนะครับ ใครคิดเห็นหรือมีวิธีการเฉพาะตัวของตัวเองต่างออกไป โปรดช่วยกันแสดงความคิดเห็นที่มีประโยชน์อย่างสุภาพครับ
1. ตั๋วเครื่องบินเหมือนอากาศ หากเราประมาทในการซื้อ
ข้อแรกนี้สำหรับหลาย ๆ คนที่เจอกันกับตัวเอง ตั้งแต่ช่วง ต้นปี 2020 มาแล้ว และคงไม่ต้องพูดไรกันมาก จากการรอ รีฟันด์ค่าจองตั๋วเครื่องบินไปต่างประเทศ บางเจ้าเราก็ได้คืนสำเร็จ บางเจ้าก็จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีวี่แววจะได้เงินกลับมา แถมยังมาขอให้เราเปลี่ยนจากรับเงินมาเป็นเครดิตเก็บไว้ใช้ต่ออีกนะ เอากับสายการบินสิ (ทั้ง ๆ ที่เรายังไม่รู้จะได้บินกันอีกเมื่อไร) และเราก็ต้องจำยอมทั้งน้ำตากันไป เพราะถ้าไม่รับก็ต้องไปเข้าคิวยื่นเรื่องร้องเรียนเข้าคิวผู้เสียหายที่ยาวเหยียด ทำให้ทุกคนจากที่เคยคิดว่า การซื้อตั๋วเครื่องบินกันไว้แต่เนิ่น ๆ มันช่วยประหยัดค่าตั๋วที่มักจะแพงตอนซื้อเวลาใกล้ ๆ เพราะโปร ฯ จองปีนี้บินปีหน้า หรือจองต้นปี บินท้ายปี ราคามันช่างแสนถูก
แต่…ปีนี้ มันคงไม่เป็นแบบนั้นอีกต่อไป จากนักวางแผนการท่องเที่ยวชั้นดีที่เตรียมพร้อมกันนานๆ เราจะกลายเป็นนักวางแผนระยะใกล้ วางวันนี้ บิน มะรืน แทน และเรายังต้องพร้อมเปลี่ยนแผนยกเลิกบินกันได้ง่าย ๆ อีกด้วย
เพราะฉะนั้นเทรนการจองซื้อตั๋วเครื่องบินปีนี้ สายการบินที่ปรับตัวไว และคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขได้รวดเร็วเท่านั้น ที่จะได้ใจจากผู้ซื้ออย่างเราไปได้ อย่างที่เห็นกันตอนนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผมอยากแนะนำให้เราสังเกตุโปรซื้อวันนี้ บินมะรืนให้ดีเช่นกัน ว่าถ้าเกิดเหตุผิดพลาดกระทันหันขอให้เราอ่านเงื่อนไขการคืนตั๋ว การคืนเงิน หรือการเลื่อนตั๋วออกไปให้ดีเพราะแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัดตอนนี้ ก็จำกัดให้เราเข้าพื้นที่ หรือมีเงื่อนไขการกักตัวทั้งแบบ กักกันตัวเอง กักกันในพื้นที่ของจังหวัดนั้นๆ
อย่างที่เห็นจากตัวอย่างในภาพนะครับ เป็นการเตือนให้เราอ่านก่อนบินให้ดี เพราะสายการบินเตือนคุณแล้วนะ ถ้าไปอาจจะกลายเป็นเงื่อนไขการไม่คืนเงิน ไม่เลื่อนเวลาการบินให้คุณได้ครับ สามารถติดตามรายละเอียดสายการบินทุกสายได้ที่นี่ เฉพาะสายการบินที่เปิดทำการ ณ ตอนนี้(มกราคม 2021)เท่านั้นครับ เห็นไหมขนาดผมยังไม่กล้าจะวางแผนเขียนอะไรยาวๆ ให้คุณๆ ได้อ่านกันเลย ฮ่า ฮา
2. ที่พักก็เหมือนอากาศ หากเราประมาทในการซื้อ (เหมือนกันกับข้อ 1 )
หลักการเดียวกัน ก็ใช้กับที่พักด้วยเช่นกัน แต่รายละเอียดของการแก้ปัญหาอาจจะไม่เหมือนกันทั้งหมด ที่พักเอง ช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะซื้อ หรือ จองผ่านกับ OTA (Online Travel Agent เช่น Agoda, Booking.com,Traveloga ฯลฯ) ยิ่งเจ้าไหนที่เข้า “เราเที่ยวด้วยกัน” ด้วยยิ่งต้องคิดให้ดี เพราะที่พักที่เข้าโครงการทั้งหมดเราไม่สามารถขอคืนเงินได้ด้วยทั้งแบบซื้อกับ OTA หรือ ซื้อตรงกับที่พักก็ได้ ปัญหาการรีฟันด์ก็แทบไม่ต่างกัน บางเจ้าโยกโย้ จะให้เราเข้าพักท่าเดียว ทั้ง ๆที่สถานการณ์มันไม่เอื้อให้เราเดินทางไป หรือสำหรับผ่าน OTA แล้วอาจจะยังดีที่มีตัวช่วยได้บ้าง เพราะเราให้ เค้าทวงหรือดำเนินการให้
บาง OTA ก็มีมาตรการออกมาช่วยผู้ซื้อ หลังผ่านประสบการณ์โควิดระลอกแรกมา สามารถจะทักทวงหรือเจรจาให้คนซื้ออย่างเราได้เงินกลับมาจนสำเร็จ ผมจะขอไม่เปรียบเทียบ OTA ว่าเจ้าไหนดีกว่ากัน เพราะสถานการณ์ในการแก้ไขก็อาจจะปรับเปลี่ยนไปตามเวลาแทบทุกวัน เพราะฉะนั้นอยากให้แนะนำว่าถ้าจะจองที่พัก ก่อนจองอ่านเงื่อนไขการจองของโรงแรม และ OTA ที่จะทำการจ่ายเงินให้ดี จองก่อนจ่ายทีหลังอาจจะเป็นการเซพเงินได้อย่างดีที่สุดในเวลานี้ครับ อ่อ มีบาง OTA ที่แก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนค่าจองเป็น เครดิตเข้าไปในระบบสมาชิกแทน แบบนี้เอาจริง ๆ ก็ถือว่ายังดีกว่าไม่ได้อะไรเลยในกรณีที่ไม่สามารถทวงเงินคืนให้เราได้ ถือว่ายังพยายามรับผิดชอบกับลูกค้า ส่วนตัวผมว่าวิธีนี้ก็ยังดีกว่า แต่ต้องอ่านเงื่อนไขให้ดี ว่ามีวันหมดอายุหรือไม่นะครับ
#กรณีเราเที่ยวด้วยกันกับจังหวัดสีแดงเข้มงวด
ล่าสุด ทาง เว็บไซต์ เราเที่ยวด้วยกัน.com ออกประกาศออกมาให้ผู้ประกอปการโรงแรมที่พักพิจารณาคืนเงินค่าตั๋ว สามารถทำการเลื่อนวันเข้าพัก ของประชาชนผู้ใช้สิทธิโครงการฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ผ่านช่องทางแอปพลิเคชั่นถุงเงินของโรงแรมที่พัก ให้ดีแนะนำถ้าจองผ่าน OTA ก็ใช้เจ้าหน้าที่เหล่านี้ ช่วยติดตามก่อนแล้วเราค่อยติดตามเองต่อถ้าไม่ได้ครับ เพราะ ยิ่งเป็น 5 จังหวัดดีแดงเข้มงวด ยิ่งแล้วใหญ่ ทางเว็บแจ้งไว้แบบนี้
“ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาด และช่วยเหลือนักท่องเที่ยว จึงขอความร่วมมือจาก ผู้ประกอบการโรงแรมที่พัก พิจารณาคืนเงินให้กับนักท่องเที่ยวที่ได้ชำระเงินไปแล้ว แต่มีความจำเป็นทำให้ไม่สามารถเดินทางเข้าพักได้ ในกรณีดังต่อไปนี้”
1. นักท่องเที่ยวที่จองที่พัก ในพื้นที่ที่มีการประกาศ Lockdown
2. นักท่องเที่ยวจากพื้นที่ที่มีการประกาศ Lockdown ที่จองที่พักในจังหวัดอื่น
***ทั้งนี้ รูปแบบการคืนเงินให้กับนักท่องเที่ยว เช่น คืนเงิน หรือ เก็บเป็นเครดิต ฯลฯ อยู่ในดุลยพินิจของผู้ประกอบการโรงแรมที่พัก
เช่นเดียวกันวิธีจองตั๋วและผูกใจให้นักท่องเที่ยวก็ยังเป็นวิธีการเดียวกันกับสายการบินคือเราควรเลือกโปรโมชั่นระยะสั้น ๆ จองวันนี้ พัก มะรืน และเงื่อนไขควรจะแจ้งไว้ด้วยหากเข้าพักไม่ได้ในสถานการณ์แบบนี้จะเป็นยังไง ขอให้เราอ่านเงื่อนไขให้ดี ผมมีเงื่อนไขตัวอย่างของ OTA ที่คนไทยนิยมใช้กันมาให้ดูนะครับ
Agoda >> อ่านที่นี่
Booking.com >> อ่านที่นี่
Traveloka >> อ่านที่นี่
3. ขับรถเที่ยวเองก็ได้ แต่ควรเข้าใจและไม่ประมาท
มาครึ่งทางแล้วนะครับ สำหรับ 6 ข้อควรรู้ สำหรับนักเดินทางกับการท่องเที่ยวในปี 2021 มาต่อกันดีกว่านะ อย่าพึ่งไปไหนนะ ยาวหน่อย ฮ่า ฮา
แน่นอนในช่วงเวลาปัจจุบันนี้ ที่พื้นที่การเดินทางยังคงไม่แน่นอน และในอนาคตว่ามันจะเกิดระลอกใหม่อีกรึเปล่า เพราะฉะนั้นการเดินทางแบบไปเช้ากลับเย็น หรือ ไปไหนเราใช้รถพาไปน่าจะเป็นการเดินทางที่สะดวกคล่องตัวที่สุดแล้วในเวลานี้ เช่น ถ้าคุณอยู่กรุงเทพฯ อยากจะไปโคราช ยังไง ๆ ก็ต้องขับรถ แต่ถ้าคุณอยากขับยาว ๆ ไปสุราษฯ ละ ทำยังไง จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ต้องบอกกันก็ได้ ถ้าคิดเร็วๆ ก็ออกกันแต่เช้ามุ่งหน้าลงใต้ใช้เส้นทางสุขุมวิทไง จะต้องมาบอกกันทำไม จริงไหมครับ
แต่ๆ… จากสถานการณ์ปัจจุบันนี้ สมมุติว่าเราอยากจะผ่าน สมุทรสาคร (พื้นที่สีแดงเข้ม) ได้ไหม หลายคนเกิดคำถามขึ้นมา ปัจจุบันนี้จังหวัดสีแดงเข้มงวด คือ สมุทรสาคร จังหวัดเดียว ยังคงเข้มงวดสูงสุดการเข้าออก ตามประกาศที่ออกมากำกับจากศูนย์บริหารจัดการโควิด-19 (ศบค.) ดังนี้
- ศบค. ยืนยันชัดว่าสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ แต่จะมีมาตรการเข้มข้นมากตามจุดคัดกรองเข้าจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่สีแดง และแดงเลือดหมู (5 จังหวัด)
- การจะเดินทางข้ามจังหวัดพื้นที่สีแดงจะต้อง วัดอุณหภูมิที่จุดคัดกรอง มีแอปหมอชนะและไทยชนะในมือถือ รวมถึงต้องแจ้งเหตุผลในการเดินทางข้ามจังหวัดด้วย
- สำหรับพื้นที่สีแดงเลือดหมู หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด นอกจากจะต้องทำตามข้อกำหนดด้านบนแล้ว จะต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ในท้องที่ภูมิลำเนาของผู้เดินทางด้วย
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมของแต่ละจังหวัดได้ที่เว็บไซต์ของกระทรวงมหาดไทยครับ >> อ่านที่นี่
ประเด็นที่อยากจะเล่าจริงๆ คือ ตอนนี้เราจะยังคงใช้เส้นทางผ่านจังหวัดได้ไหม ผมขอแยกชัด ๆ ออกมาเป็น 2 กรณีง่าย ๆ ดังนี้ครับ
3.1 หากเรามาจากจังหวัดหรือมีปลายทางไปที่ไม่ใช่ต้นทาง จังหวัดสีแดงเข้มงวด
อันนี้ง่ายมาก หากเจอด่านตรวจควบคุมโรคฯ คุณแค่ลดกระจกและแจ้งจุดหมายปลายทางว่าจะไปที่ไหน และให้เจ้าหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมิก็จะผ่านได้แล้ว เพราะเราแค่ผ่านครับ ผมเห็นคนสงสัยเรื่องนี้กันเยอะมากตามหน้าโซเชียลมีเดีย เพราะจากประกาศที่ออกไปทำให้คนเดินทางรู้สึกว่ามันยุ่งยาก จนไม่ต้องไปไหนกันเลย ผมเองในตอนต้นก็งงไม่ต่างจากคนอื่น ๆ เช่นกัน จนได้โทรสอบถามจากสาธารณะสุขของจังหวัดที่เราอาศัยอยู่ และได้ข้อสรุปดังกล่าว
ประกาศที่ ศบค. ประกาศออกมานั้นเจตนาคือ อยากให้เราเดินทางเท่าที่จำเป็น เหตุผลมันเข้าใจได้ไม่ยากจริงไหมครับ เช่นคุณอยู่กรุงเทพฯ คุณจะไปไหว้พระที่ปทุมธานี หรือ ไปเที่ยวเกาะเกร็ดที่จังหวัด นนทบุรี (พื้นที่สีแดงด้วยกัน) หรือเปลี่ยนบรรยากาศไปนอนโรงแรมวิวสวยๆ ในกรุงเทพฯ แทน แบบนี้การเดินทางของตัวคุณเองจะยังไปได้ง่ายอยู่
ประเด็นคือการขับรถไปเที่ยวยังคงเป็นไปได้หากตัวเราเองมั่นใจ ว่าปลอดภัย สามารถปฎิบัติตนให้อยู่ในความระมัดระวังตัวเอง และ สมาชิกที่เดินทางไปด้วยกัน ปัจจุบัน หลายจังหวัดที่อนุญาติให้คนในพื้นที่สีแดง ไปได้ทางรถแล้วเว้นแค่จังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้มงวดเท่านั้นครับ อยากให้อดทนรออีกหน่อย ผมเชื่อว่าถ้าเรายังคงปฎิบัติตนเองให้ดี ภาวะชวนอึดอัดแบบนี้จะผ่านไปโดยไวครับ
3.2 หากเราเดินทางหรือมีปลายทางไปยังจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มงวด
ข้อนี้ชัดเจนมากครับ คุณ ๆต้องทำดังนี้ตามประกาศของ ศบค. ที่ออกมาดังนี้
- ต้องมีอุณหภูมิปกติ โดยผ่านด่านตรวจคัดกรองเพื่อสังเกตอาการ
- ต้องมีแอปพลิเคชั่นหมอชนะ และไทยชนะในโทรศัพท์มือถือ หากไม่มีแอปจะไม่สามารถผ่านด่านตรวจคัดกรองได้
- ต้องแจ้งสาเหตุในการเดินทางข้ามจังหวัด โดยเจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือให้เป็นธุระจำเป็นในการเดินทางข้ามจังหวัด เช่น ขนส่งสินค้า
- ต้องมีหลักฐานการได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ในท้องที่ภูมิลำเนาของผู้เดินทาง เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ และนายจ้าง โดยใช้เอกสารจากกระทรวงมหาดไทยได้เลย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์กระทรวงมหาดไทย (ดาวน์โหลดเอกสารขออนุญาตเดินทางข้ามจังหวัด)
จากประกาศเราจะเห็นว่าไม่ง่ายเลย เพราะฉะนั้นหากคุณต้องการเดินทางไปเที่ยวและคุณยังอยู่ในจังหวัดเหล่านี้ อีกข้อที่คิดว่าจะเป็นใบเบิกทางให้คุณไปได้คือ การไปตรวจและขอใบรับรองทางการแพทย์ว่าคุณไม่เป็นอะไรภายใน 14 วันที่ผ่านมา และไปรายงานตัวกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในเขตที่พักของคุณเพื่อความสบายใจ ก็จะเป็นทางออกที่ดีกับตัวคุณเอง และ ยังสบายใจกับโรงแรม รีสอร์ทที่คุณตั้งใจจะไปพักด้วยเช่นกัน หลายคนอ่านถึงตรงนี้อาจจะคิดว่า แค่ชั้นจะไปเที่ยวจะต้องทำขนาดนี้เลยเหรอ ผมตอบไม่ต้องคิดเลยว่า ใช่ เพราะมีคนทำแล้ว เพื่อเคลียร์ตัวเองให้ออกเดินทางได้นั้นเอง หากคุณยังอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้มงวดนะครับ
4.แอปฯสำหรับพกพาไปไหนมาไหนมันต้องโหลดติดไว้ก่อน
แอปฯ ที่ควรติดตัวในเวลานี้นั้น หลัก ๆ สำหรับการเดินทางปัจจุบันขอแบ่งเป็นแอปฯ ที่รัฐขอความร่วมมือให้ประชาชนโหลดไว้ กับ แอปฯที่ตัวผมเองอยากแนะนำให้มีสำหรับการเดินทางตามนี้เลย
หมอชนะ : แอปฯจาก สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) ใช้สำหรับการติดตามไทม์ไลน์ของตัวเองในการเดินทางไปไหนมาไหนแอปฯ จะสามารถแทร็คกิ้งได้หมดจากมือถือที่พกติดตัวไปด้วย โดยไม่ต้องแสกนใดๆ แอปฯ จะเป็นตัวบันทึกให้อัตโนมัติแค่เราลงแอปฯ และอนุญาติให้ตัวแอปฯ เองทำงานเป็นเบื้องหลังจาก GPS+Bluetooth ในมือถือของเรา นอกจากนี้ตัวแอปฯ เองยังมีไว้สำหรับรายงานบุคคลที่รับการรักษาหรือที่ติดเชื้อให้เรารู้ว่าอยู่ในพื้นที่ ๆ เราอยู่ในขณะนั้นด้วยหรือ หากมีมันจะแจ้งเตือนทันทีให้เรารู้ นับว่าเป็นแอปฯ ที่ดีทีเดียว
รีวิวหลังการใช้งานจริง :ล่าสุด ข่าวที่ออกมาคือทีมพัฒนาของแอปฯ จากการร่วมมือกันเฉพาะกิจได้ยกให้แอปฯ นี้ อยู่ในการดูแลของภาครัฐต่อเรียบร้อยแล้ว และตัวแอปฯ เองก็มีการแก้บัค เรื่องการกินพลังงานออกมาอัพเดตเรื่อย ๆจากส่วนตัวที่ใช้งาน ก็เห็นการพัฒนาที่ดีขึ้น จากเดิมสูบแบตทำให้มือถือผมหมดเร็วขึ้นแบบรู้สึกได้ ปัจจุบันนี้ดีขึ้นเยอะ เอาว่าถ้าคุณคิดว่าจะช่วยให้ตัวเองสบายใจไม่ลำบากลำบนเกินไป โหลดไว้เถอะช่วยกันครับ
นอกจากแอปฯ หมอชนะ ยังมี ไทยชนะ ที่คงไม่ต้องเอ่ยกันแล้วเพราะมีกันทั่วทั้งประเทศ แต่ที่อยากแนะนำต่อ เป็นแอปฯ ที่ผมใช้ประจำในการเดินทางบ้าง ขอแนะนำตามนี้
แอปฯรายงานสภาพอากาศ
เราเข้าสู่ประเทศ PM2.5 เยอะขึ้นทุกปี ถ้าไม่มีเหตุการณ์โควิดเราคงจะยิ่งเป็นประเทศผลิตอากาศแย่ ๆ เข้าขั้นติดอันดับโลกแน่ๆ ไม่รู้ว่าเป็นโชคดีหรือร้ายในสถานการณ์ปัจจุบันนะครับที่เรามีแอปฯ รายงานสภาพอากาศ จากเมื่อก่อนที่เราไม่รู้เลยว่าเราอยู่ในสภาพอากาศแบบไหนมาก่อน (ทั้งๆ ที่จริงแล้ว PM2.5 มันอยู่กับโลกยุคปัจจุบันมานานแล้ว)แต่พอมีแอปฯ เหล่านี้ขึ้นมาเราก็เข้าสู่ยุค pm2.5 ทันทีสื ฮ่า ฮา เอาว่ามีไว้จะได้รู้ว่าแต่ละพื้นที่นั้นๆ อากาศเป็นยังไง เวลาจะไปเที่ยวไหน แอปฯ เหล่านี้ช่วยเราได้ทำให้การวางแผนการเดินทางล่วงหน้า ไม่เกิน 7 วันแม่นยำขึ้นเยอะครับ เผื่อก่อนเดินทางเราจะได้รู้ว่าไปที่นั้นที่นี่จะเจอกับสภาพอากาศยังไงบ้าง จริงๆ มันมีมากกว่านี้อีกแต่ 4 ตัวนี้คือตัวที่ใช้ประจำ
- Air4thai
- IQAir AirVisual
- BreezoMeter
- Yr
ทั้ง 4 แอปฯ มีทั้งสัญชาติไทย และ ต่างประเทศ ตัวสุดท้ายเป็นตัวที่เพื่อนผมแนะนำให้รู้จักล่าสุดเป็นแอปฯ รายงานสภาพอากาศที่ผลิตโดย สถาบันอุตุนิยมวิทยานอร์เวย์ แม่นยำดีมาก ลองใช้แล้วประทับใจด้วย interface เรียบง่าย และบอกแรงลมและทิศทางลมในแต่ละช่วงเวลา คำถามคุณอาจจะสงสัยว่า แล้วจะรู้สภาพลมไปทำไม มันจำเป็นต่อการไปเที่ยวตรงไหน เอาแบบนี้นะผมยกตัวอย่างให้อ่านกัน สำหรับคนถ่ายภาพท่องเที่ยวแล้ว การรู้สภาพอากาศก่อนไปถ่ายจริง มันแปลว่าเราจะไม่ต้องเสียเวลาไปถ้าอากาศไม่เอื้อนั้นเอง เช่นถ้าคุณไปเจอฝนตกคุณคงนึกออกใช่ไหมว่ามันจะเป็นยังไงถ่ายรูปได้รึเปล่า เหมือนช่วงหลัง ๆที่เราจะเห็น Hash Tag ประมาณ #สิ่งที่คิด VS #สิ่งที่เห็น นั้นแปลว่าคุณไปอาจจะถ่ายรูปสวยไม่ได้นั้นเอง เอาไว้จะเขียนรีวิวแอปฯ เหล่านี้ละเอียดให้อ่านกันอีกทีแล้วกันนะ
5. เที่ยว กิน พัก แบบ เอ๊าท์ดอร์ กลายเป็นเทรนด์ปีนี้ (จริงๆ มันมีมานานแล้ว)
ใช่การเที่ยวแบบแค้มปิ้ง แกรมปิ้ง กางเต็นท์ กลายเป็นเทรนด์มาตั้งแต่ไหนผมไม่มั่นใจ แต่ช่วงที่เห็นเป็นกระแสจะเกิดขึ้นจาก เพจท่องเที่ยวทั้งหลายเริ่มรีวิว และมีภาพออกมาให้คนเห็นแล้วอยากเดินทางตามจะเป็นช่วงปี 2019- 2020 และก็แน่นอนมาเป็นเทรนด์ของปี 2021 นี้ด้วยเช่นกัน ทำไมเป็นเช่นนั้น จะบอกว่าเพราะโควิดก็ไม่เชิง เอาว่าเพราะกระแสการท่องเที่ยวแบบกางเต็นท์น่าจะเป็นสาเหตุหลัก ส่วนเรื่องโควิดเป็นองค์ประกอปเสริมให้นักท่องเที่ยวสายธรรมชาติ ป่าเขา เริ่มรู้สึกว่าการไปเที่ยวกางเต๊นท์นอนมันไม่ใช่ของยากอีกต่อไป ด้วยการพัฒนาของเทคนิคการผลิต และการคิดค้นให้ตอบโจทย์คนเมืองที่อยากสะดวกสบายมากขึ้นเวลาไปนอนเต็นท์ บวกกับ การพักในที่โล่งแจ้ง และแบกอุปกรณ์ของตัวเราไปกางเต็นท์เอง มันปลอดภัยกว่าด้วย
แต่เอาจริง ๆ นะ ผมเองไม่ใช่สายเที่ยวแบบนี้เท่าไหร่ แต่อยากจะแนะนำว่าใครที่กำลังจะเข้ามาวงการนี้ มันราคาไม่ถูกเลย อุปกรณ์กางเต็นท์ยุคนี้ ไม่ขายแค่เต็นท์ แต่อุปกรณ์ข้างเคียงที่ทำให้การกางเต็นท์ของคุณดูไม่ธรรมดา(ทั้งการถ่ายภาพ และ การใช้งาน) เช่น เก้าอี้พับ, ชุดจานชาม, ชุดก่อไฟ, ชุดหุงต้มอาหารจานชามแก้วน้ำ, ชุดชงกาแฟยามเช้า, ชุดอุปกรณ์ลากจุงสำหรับเคลื่อนย้ายข้าวของไปที่ตั้งเต็นท์ เลยไปถึงชุดแต่งพาหนะที่พาคุณไปตั้งแคมป์ (ใช่แล้วรถราคุณนั้นล่ะ) ถ้าอยากให้มันเข้าเซ็ทกัน รวมๆ คุณอาจจะต้องจ่ายถึง 6 หลักกันทีเดียวเชียว
แต่เอาจริงๆเถอะ เข้าวงการนี้แล้วออกยากอยู่นะ ไม่ใช่ว่ามีใครห้ามแต่มันติดใจ อย่างล่าสุดผมมีโอกาสไปเที่ยวเชียงราย ตอนเช้าเราไปขึ้นดอยถ่ายภาพทะเลหมอก และมีพี่ในกลุ่มแกพกอุปกรณ์ชงกาแฟขึ้นไป ยอมรับเลยว่าภาพถ่ายที่ออกมามันเท่มากก ดูไฮขึ้นมาทันที ฮ่า ฮา การเดินทางท่องเที่ยวแบบนี้ มันเป็นเรื่องรสนิยมล้วน ๆ ครับ ถ้าเอากฎกติกาความปลอดภัยในการท่องเที่ยวมาตั้ง มันไม่จำเป็นต้องจ่ายแพงก็ได้นะ อยู่ที่คุณและรสนิยมของคุณล้วนๆ ทีเดียว
6.การทำประกันที่จำเป็น (มากกว่าแค่โควิด-19)
ผมเชื่อว่าตอนนี้ทุกคนในประเทศไทยส่วนใหญ่ล้วนแต่ทำประกันสุขภาพโควิด-19 กันแทบทั้งนั้น บางคนไม่เคยซื้อประกันก็ได้ซื้อกันครั้งแรกในชีวิตก็ครั้งนี้
ใช่ เราคงจำกันได้ว่ายิ่งช่วงที่เกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ เราจะเห็นกระแสการออกประกันโควิดพาเหรดออกมากันเยอะมาก ทุก ๆ บริษัทประกันฯล้วนแต่ออกแพ็คเกจออกมาให้เราซื้อกัน มีทั้งถูกทั้งแพง พาเหรดออกมาจนขายดีเป็นเทน้ำเทท่า บางเจ้าถึงขั้นงดรับชั่วคราวเพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตอบคำถามให้กับคนซื้อได้ทัน จนกลายเป็นดราม่าตามหน้าโซเชียลกันอยู่พักใหญ่ เพราะฉะนั้นผมจะไม่ขอมาเขียนเรื่องประกันโควิดฯ ของใครดีกว่ากัน ส่วนตัวผมมองเองว่า มันยังเป็นเรื่องของ “รสนิยม” และ “การศึกษาข้อมูล” ของผู้ซื้อมากกว่าเช่นกัน เพราะการทำประกันมันควรจะต้องอ่านรายละเอียดการกรมธรรม์ของตัวเองให้ดีก่อนทำเสมอ แต่สำหรับข้อนี้ ผมกำลังจะพูดถึงการทำประกันแบบอื่น ๆ หลายคนอาจจะคิดว่าไม่จำเป็นแต่กับตัวผมกับมองว่ามันจำเป็นมากเลยด้วยซ้ำ เพราะโลกใบนี้มันไม่ได้มีมีแค่โรคที่เกิดจากโควิด-19 เท่านั้นมันยังมีโรคอีกมากที่คุณมองข้ามมันไม่ได้ แต่ที่จะแนะนำเป็นพิเศษก็คงเอาความคุ้มค่าในการทำมาเป็นหลักมากกว่า
ประกันสุขภาพ+ลดหย่อนภาษีได้
ใช่หลายคนที่ทำประกันสุขภาพไม่เคยรู้มาก่อนว่า นอกจากประกันชีวิตแล้ว คุณยังสามารถทำประกันสุขภาพเพื่อนำมาลดหย่อนการเสียภาษีบุคคลธรรมดาได้ด้วย (ในนั้นรวมผมด้วยเลย ฮ่า ฮา) ตัวที่ผมพึ่งสมัครไปเมื่อช่วงปลายปี 2020 ที่ผ่านมานี่เองครับ เพราะตอนนั้นพอคำนวนภาษีตัวเองคร่าว ๆ แล้วพบว่ามันยังต้องเสียเพิ่มอีกแน่ ๆ เลยมองหาการซื้อประกันเพิ่มเพราะกองทุนฯ ที่นำมาลดหย่อนภาษีได้มานาน อย่าง LTF ก็ไม่สามารถใช้ได้แล้วกับ ปี 2020 แต่เปลี่ยนมาเป็น SSF (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนตัวนี้กันได้ที่นี่) ตัวใหม่แทน
หลังจากพิจารณาแล้วผมก็ยังไม่ถูกใจนัก เลยมองมาที่การทำประกัน ด้วยวงเงินที่ยังซื้อได้นั้นยังเหลือ (ปีนึงสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 250,000 บาท) และมาเจอกับประกันตัวนี้เข้าให้ ชื่อว่า “ประกันสุขภาพมิติใหม่ ซูเปอร์แพลนสมาร์ทโกลด์คุ้มครองกลุ่มโรคออฟฟิศซินโดรม” ของ Cigna หรือเวลาที่เราซื้อมันจะชื่อเป็นทางการว่า “ประกันสุขภาพมิติใหม่ ซุเปอร์แพลนสมาร์ทโกลด์ ” อ่านผ่านตาทีแรก เอ้ยเก๋มาก
ปรกติเราจะเจอประกันโรคเฉพาะทางเช่น ประกันโรคร้ายแรงฯ จะมีมะเร็ง เบาหวาน หัวใจ เส้นเลือดอุดตัน พวกนี้จะเจอเป็นปรกติทุกบริษัทประกันสุขภาพ แต่กลุ่มโรคออฟฟิตซินโดรมนี่สิ ไม่เคยเจอ (หรือจริง ๆ มันอาจจะมีแต่ผมไม่เคยใส่ใจก็ได้) จากปัจจุบันที่ตัวเองอายุไม่ใช่น้อยแล้ว ประกันโรคร้าย ที่เอ่ยไป ผมมีหมดแล้ว และยังก้มหน้าก้มตาหาตังค์ มาจ่ายทุกปี
พออ่าน ๆ ไปเอ้ยใช่ มันใช่เลย โรคที่เราควรจะกังวลไม่แพ้ 4 โรคร้าย ก็คือ กรดไหลย้อน, กระเพาะอาหารอักเสบ, ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ, เวียนศีรษะบ้านหมุน, การกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ, นิ้วล็อคและหัวเข่า แถมอีกตัวที่อันนี้ใช่เลย เป็นโรคประจำตัวผมไปแล้วคือ ไมเกรน คนที่เป็นไมเกรนมาเกิน 10 ปีอย่างผม เวลามันเป็นหนักขึ้นมา ไม่สามารถจะทำอะไรได้เลย ที่สำคัญไม่ต้องตรวจอะไรทั้งนั้นก่อนทำ ทำได้เลยอีกต่างหาก ผมเลยไม่ลังเลเท่าไร บวกกับ มันสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ด้วย ก็แทบจะเป็นตัวเลือกชั้นดีสำหรับผมเลย เงื่อนไขการประกันที่ทำให้ผมตัดสินใจก็มีข้อเหล่านี้ครับ
คุ้มครองกลุ่มโรคออฟฟิศซินโดรมได้แก่
- ไมเกรน (ผมเป็นอันนี้มาเกิน 10ปี แล้ว )
- ภาวะตาผิดปกติที่เกิดจากการทำงานปวดผังผืดกล้ามเนื้อ
- กระดูกสันหลังเสื่อม
- ริดสีดวงทวาร & ลำไส้แปรปรวน
- กรดไหลย้อน&กระเพาะอาหารอักเสบ (เคยเป็น ๆ หาย ๆแต่พอกลับมาดูแลสุขภาพ ก็ไม่เป็นมาเกิน 5 ปีแล้ว)
- ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
- หมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท
- เวียนศีรษะบ้านหมุน
- การกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ
- นิ้วล็อค
เงื่อนไขการทำประกันแปะไว้ส่วนใครอยากรู้เพิ่มก็ กดไปอ่านต่อได้เลยครับ
- ผู้ขอเอาประกันภัยต้องมีอายุระหว่าง 20 – 60 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มเอาประกันภัย
- ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจข้อตกลงและเงื่อนไข และรายละเอียดความคุ้มครองก่อนตัดสินใจทำประกันภัย
- ผู้ขอเอาประกันภัยสามารถทำประกันภัยได้ไม่เกินที่บริษัทกำหนด
แค่นี้เลย ที่เหลือก็แค่กรอกข้อมูลแล้วทำออนไลน์ผ่านเว็บเค้าโดยตรงได้เลย ตัวเว็บจะคำนวนค่าเบี้ยประกัน และส่งกรมธรรม์ให้เราทางเมล์ได้เลย ใครสนใจก็กด Link ไปได้เลยนะครับ ผมไม่ได้ขายประกันนะ กดไปผมก็ไม่ได้เงินค่าคอมกลับมาแต่อย่างใด กดได้เลยตามสะดวกครับ
นอกจากประกันตัวนี้ผมว่าประกันอื่น ๆ เช่นประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ จะอะไรก็แล้วแต่ยุคนี้มันต้องให้มากกว่าแค่การคุ้มครองแต่มันต้องหวังผลต่อได้เช่น ลดหย่อนภาษีได้เป็นต้นครับ
ไว้มีโอกาสคงจะเขียนเล่าประสบการณ์การใช้ประกันที่เคยประสบมาให้อ่านกัน นะครับ
สรุปกันหน่อย
จบแล้วนะครับ สำหรับ 6 ข้อควรรู้ สำหรับนักเดินทางกับการท่องเที่ยวในปี 2021 ปีนี้เป็นปีแห่งความเข้าอกเข้าใจกันและกัน โดยเฉพาะในครอบครัว เป็นปีที่เราควรระมัดระวังแต่อย่าระแวงจนหมกหมุ่นมันจะเสียสุขภาพ (จิต)กันไป หลาย ๆ ครอบครัวที่มีคนเฒ่าคนแก่ จากสถิติแล้วเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจาก ไวรัสโควิด-19 มากที่สุด ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมาก ไม่กล้าออกไปไหน ผมอ่านที่เพื่อนใน Social แชร์เรื่องราวของผู้สูงวัยในบ้านตัวเองนั้นตั้งใจไว้ว่าจะไม่ออกไปไหนเลย 2 ปี!!! อืออออ
ผมอ่านแล้วก็อึ้ง ๆ ไป ไม่รู้จะเอ่ยยังไง แต่ถ้าชีวิตเราจะเป็นแบบนั้นจริงๆ มันก็คงยิ่งกว่าในหนังไซไฟ หลังมหันตภัย หรือ หลังสงคราโลกที่มนุษย์ต้องลงไปอยู่ในหลุมหลบภัย ไปอยู่ในอุโมงค์ใต้ดิน ที่เคยดูๆ กันมา แต่ ผมเชื่อว่า ถ้าเรารักษาตัวเองให้ดี ให้กำลังใจกัน และ กัน การออกเดินทางแบบป้องกันตัวเอง ที่ทุกคนในโลกนี้ล้วนประจักษ์แล้วมันช่วยป้องกันได้ก่อนวัคซีนจะมาถึงคือ หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ไปไหนใส่หน้ากาก ไม่ไปในที่รัฐเค้าห้ามไป (พวกแก็งค์บ่อน คาสิโน่ ที่ไป ๆ กันนี่ไม่ควรจะรับมารักษาเลย เอาจริง ๆเถอะ) และที่สำคัญ หมั่นใส่ใจในกันและกันเสมอ เมื่อคุณยังไปไหนไม่ได้ และยังต้องเครียดจากสภาวะแวดล้อมรอบตัว การกุมมือรับฟังปัญหาคนที่ใกล้ตัว ยังช่วยได้เสมอ บางทีระหว่างที่ได้รับฟังปัญหาของคนอื่นๆ บ้างก็อาจจะเจอหนทางแก้ปัญหาของตัวเองไปด้วยเช่นกัน
การเดินทางออกไปไหนบ้าง ก็ช่วยลดความเครียดจากข่าวสารที่รับกันอยู่ในเวลานี้ได้ หวังว่าบทความยาวๆ นี้จะช่วยคนที่กำลังตั้งใจจะออกไปไหนมาไหน ได้ลองพิจารณาก่อนย่างเท้าออกจากบ้านทุกครั้งครับ
จนกว่าจะพบกันใหม่ในโลกสีฟ้าแห่งนี้สักที่(ให้ได้ไปเหอะ)
สวัสดีครับ
==================================
สำหรับเพื่อนใหม่ที่พึ่งเจอกัน
ถ้าชอบรีวิวของเรา ฝากกด Like
เพจ อยากรู้จักโลกกว้าง
http://bit.ly/2G06JVD
และอย่าลืมเปลี่ยนสถานะ follow (ติดตาม)
เป็นSee first (เห็นก่อน) ไว้เลย
สำหรับคนที่อยากหาข้อมู, ทิป เทคนิค บทความสำหรับการเดินทางของผมทั้งหมด ผมเขียนแนะนำไว้แล้วที่นี่เลยครับ
#อยากรู้จักโลกกว้าง #one22family