ก่อนอื่นต้องขอสวัสดีผู้ที่พร้อมจะร่วมทริปไปกับเราในครั้งนี้ก่อนนะครับ ต้องขอเกริ่นนำกันก่อนสักนิดว่า ทริปนี้เรามีเพื่อนร่วมทางไปกว่า 20 ชีวิตเลยทีเดียว โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำขบวนผู้โชคดี 20 ท่าน ที่ได้รับคัดเลือกจากการเข้าร่วมกิจกรรมจากชุมชนคนเที่ยวเหนือ (http://gonorththailand.com) เดินทางไปกับรายการเถลไถลพร้อมคู่ซี้โจ AF2 กับ ซานิ AF6 เดินทางวันที่ 26-28 ตุลาคม 2555 รวมเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน
จุดรวมพลของเราคือสนามบินดอนเมืองครับ แต่ละคนดูตื่นเต้นและเตรียมตัวมาอย่างดีมากๆ สำหรับการเดินทางในครั้งนี้
เมื่อทุกคนพร้อม ก็ได้เวลาบินกันแล้วครับ ลุยๆๆๆ
พระอาทิตย์กำลังโผล่ขึ้นจากขอบฟ้าพอดีเลยครับ นับว่าเป็นโชคดีตั้งแต่เริ่มเดินทาง
ใช้เวลานั่งเครื่องประมาณ 40 นาทีก็ถึงท่าอากาศยานพิษณุโลก ถึงก่อนกำหนดการ 10 นาที เหตุผลที่ต้องมาลงที่จังหวัดพิษณุโลกเพราะว่าวันที่เราเดินทางนั้นไม่มีเที่ยวบินที่จะบินไปแพร่นั่นเองครับ
สภาพอากาศแจ่มใส ท้องฟ้าปรอดโปร่งเหมาะแก่การเก็บภาพสวยๆ เป็นอย่างยิ่ง
เดินทางกันต่อจากพิษณุโลกมาจังหวัดแพร่ เป้าหมายแรกของเราคือพระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแพร่ บุคคลที่ได้มาเที่ยวแพร่แล้วต้องมานมัสการพระธาตุช่อแฮเพื่อเป็นศิริมงคลกับตนเอง จนมีคำกล่าวว่า ถ้ามาเที่ยวจังหวัดแพร่ แต่ไม่ได้มานมัสการพระธาตุช่อแฮเหมือนไม่ได้มาจังหวัดแพร่
พระธาตุช่อแฮอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 9 กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่เลขที่ 1 หมู่ที่ 11 ถนนช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ บนเนื้อที่ 175 ไร่
พระธาตุช่อแฮเป็นเจดีย์ที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุ พระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า
ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองศิลปะเชียงแสน สูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร สร้างด้วยอิฐโบกปูน หุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองลงรักปิดทอง
ส่วนพระอุโสถกำลังบูรณะหลังคา แต่ก็สามารถเข้านมัสการพระพุทธด้านในได้ครับ
พระธาตุช่อแฮเป็นพระธาตุประจำปีขาล (ปีเสือ) หากนำผ้าแพรสามสีไปถวายจะทำให้ชีวิตมีพลังคุ้มครองป้องกันศัตรูได้ พลังบารมีจะดลบันดาลให้มีชีวิตที่ดีขึ้น
ไปพักรับประทานอาหารกลางวันกันที่ร้านม่อนนกยูง
เป็นร้านอาหารพื้นเมือง-อาหารไทย ตั้งอยู่ที่ 124/2 ตำบลช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ 5400 สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 085-5272223
บรรยากาศสบายๆ ท่ามกลางธรรมชาติ
ถึงจะอยู่ท่ามกลางธรรมชาติแบบนี้แต่ยังมีบริการ wifi ฟรีด้วยนะครับ ดีจริงๆ
มีเมนูอาหารให้เลือกรับประทานมากมายหลายเมนู ต้องขอบอกว่าอาหารอร่อยมากๆ เลยครับ ว่าแล้วก็ไปดูกันเลยดีกว่าว่ามื้อนี้เราสั่งเมนูไหนมารับประทานกันบ้าง เมนูแรกคือออเดิร์ฟเมือง เมนูถัดมาคือปลาม่อนนกยูง เมนูที่สามของเราคือยำยอดซาโยเต้กุ้งสด เมนูที่สี่คือแกงส้มตูนปลาคัง เมนูสุดท้ายคือเห็ดสามอย่างผัดกุ้ง และปิดท้ายด้วยผลไม้
ต่อไปเราจะพาไปชมการสาธิตการทำเสื้อหม้อฮ้อมพร้อมทั้งร่วมทำกิจกรรมผ้ามัดย้อมที่บ้านทุ่งโฮ้ง
อาชีพหลักของที่นี่คือการทำผ้าหม้อฮ้อมแท้ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดแพร่ จนได้คัดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP เชิงหัตถกรรม ปัจจุบันผ้าหม้อฮ้อมที่บ้านทุ่งโฮ้งมีจำนวนหลายสิบร้านมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายรูปแบบ มีทั้งแบบดั้งเดิมและแบบทันสมัย
หม้อห้อม หรือหม้อฮ้อม เป็นภาษาพื้นเมืองมาจากหม้อซึ่งเป็นภาชนะดินเผา ห้อม หมายถึงพืชชนิดหนึ่ง เรียกว่าต้นห้อม หรือต้นครามนำมาเป็นสีย้อมผ้าให้เป็นสีน้ำเงิน (กรมท่า) ผ้าหม้อฮ้อมแท้ๆ นั้นเมื่อซักครั้งแรกสีจะตก จึงนิยมไปแยกซักด้วยการแช่นำเกลือไว้ 1 คืน แล้วค่อยนำไปซักตามปกติ
นอกจากนี้พวกเรายังได้ร่วมกันทำกิจกรรมย้อมสีผ้าหม้อฮ้อม เริ่มตั้งแต่การนำผ้าขาวมามัด ซึ่งการมัดก็มีหลายวิธีที่แตกต่างกันไป แต่ละวิธีก็จะให้ลวดลายออกมาแตกต่างกัน ซึ่งแต่ละแบบก็มีความสวยงามแตกต่างกันไปหลากหลายรูปแบบตามสไตล์ของแต่ละคน จากนั้นก็จะนำผ้าที่มัดแล้วไปย้อมสี ไม่นานเราก็จะได้ผ้าหม้อฮ้อมที่สวยงามจากการทำขึ้นมาด้วยตัวเองเป็นผ้าที่มีลวดลายเดียวในโลก และแน่นอนเราสามารถนำผ้าหม้อฮ้อมที่ตัวเองย้อมนำกลับไปเป็นของที่ระลึกได้อีกด้วย
เสร็จจากกิจกรรมสนุกๆ แล้วก็เดินทางสู่ที่พักของเรา คือโรงแรมภูมิไทยการ์เด้น
สภาพแวดล้อมของโรงแรมสวยงาม ดูเป็นธรรมชาติดีครับ
ร่วมรับประทานอาหารมื้อเย็นแบบล้านนา ขันโตก ซึ่งเป็นประเพณีของชาวเหนือที่นิยมปฏิบัติสืบต่อกันมา ตั้งแต่โบราณ
พร้อมทั้งชมศิลปะการแสดงพื้นบ้านและสาธิตการทำขนมชื่อดังของเมืองแพร่ และยังสามารถร่วมทำขนมด้วยตนเองได้ด้วย
เช้าวันที่ 27 ตุลาคม 2555 วันนี้พวกเราจะพาไปนั่งสามล้อ ผ่อเฮือนเก่า เล่าขานตำนานเมืองแป้
มีขบวนสามล้อมารับกันถึงหน้าโรงแรมเลยครับ
พร้อมแล้วก็เริ่มเดินทางกันได้เลย
ระหว่างทางที่นั่งบนสามล้อ ก็มองเห็นสภาพบ้านเรือนของคนจังหวัดแพร่ เป็นบ้านเมืองที่ดูไม่ใหญ่โตมากนัก บ้านเมืองดูเงียบสงบไม่วุ่นวาย บรรยากาศยามเช้าปลอดโปร่งแจ่มใส ผู้คนที่พบผ่านยิ้มแย้มตอนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเป็นเมืองที่น่าอยู่มากๆ ทีเดียวครับ
ทางด้านขวามือที่เห็นเป็นเนินดินนั้น นั้นใช้เป็นกำแพงเมืองที่ถูกสร้างมาตั้งแต่ในอดีต
ที่แรกที่เรามาถึงคือศาลหลักเมืองจังหวัดแพร่ ซึ่งแต่เดิมชาวบ้านเรียกว่า สะดือเมือง
ถัดจากศาลหลักเมืองเราเดินต่อไปอีกนิดหน่อยก็จะพบกับ พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ “คุ้มเจ้าหลวง” ตั้งอยู่บนถนนคุ้มเดิม สร้างปี พ.ศ. 2435 โดย เจ้าหลวงพิริยชัยเทพวงศ์(พระยาพิริยวิไชย) เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคต้น เป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรปหรือทรงขนมปังขิงที่นิยมในสมัยนั้น
ภายใต้ตัวอาคาร 2 เมตร มีห้องที่ใช้สำหรับคุมขัง ข้าทาส บริวาร จำนวน 3 ห้อง ห้องกลางเป็นห้องทึบแสงสว่างไม่สามารถสาดส่องเข้าไปได้เลยใช้เป็นที่คุมขังข้าทาสบริวารที่กระทำความผิดร้ายแรง ส่วนอีก 2 ห้อง ปีกซ้ายและปีกขวามีช่องแสงให้แสงสว่างเข้าไปได้บ้าง ใช้เป็นที่คุมขังผู้ที่มีความผิดไม่ร้ายแรง ซึ่งใช้เป็นที่คุมขัง ข้าทาส บริวาร มายาวนานกว่า 50 ปี จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประกาศเลิกทาส คุกทาสจึงกลายมาเป็นที่คุมขังนักโทษทั่วไป
ปัจจุบันคุ้มเจ้าหลวงจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ และยังเคยใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำละครสุดฮอตแห่งปีคือ เรื่อง “บ่วง” อีกด้วย
จากนั้นเรานั่งสามล้อต่อไปที่บ้านวงศ์บุรี ลักษณะเป็นบ้านทรงขนมปังขิง ซึ่งเป็นที่นิยมมากในสมันรัชกาลที่ 5 แถมด้านในยังประดับประดาด้วยของใช้เก่าแก่ของตระกูลที่ยังดูดีเสมือนใหม่จนได้รับรางวัล อนุรักษ์ดีเด่นปี พ.ศ. 2535 บ้านวงศ์บุรียังเคยใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำละครถึง 5 เรื่อง ล่าสุดได้กระแสตอบรับเป็นอย่างดี คือเรื่อง “รอยไหม” ยิ่งทำให้บ้านวงศ์บุรีได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก
สถานที่ต่อไปคือคุ้มวิชัยราชา ซึ่งเป็นคุ้มของเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่ และถือเป็นคุ้มที่มีความเกี่ยวพันกับการเมืองมากที่สุดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คุ้มวิชัยราชาสร้างระหว่างปี พ.ศ. 2434-2438 ถึงแม้ว่าจะมีอายุเก่าแก่เกินร้อยปี แต่คุ้มก็ยังมีโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง โดดเด่นด้วยลวดลายฉลุที่สวยงามอ่อนช้อย ล้วนเป็นศิลปะที่หายาก สมควรอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างยิ่ง
ช่วงบ่ายเราจะพาทุกคนไปสัมผัสและร่วมดำเนินวิถีชีวิตตามแนวปราชญ์ชาวบ้าน ที่บ้านของ นาย มนูญ วงค์อรินทร์ เกษตรกรดีเด่นของเมืองแพร่ ปัจจุบันที่นี่ได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านของจังหวัดแพร่ ในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรทั่วไปที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ที่นี้เลี้ยงปลาดุกให้สามารถขึ้นมากินอาหารบนบกได้ด้วยนะครับ สุดยอดไปเลย ที่สำคัญตัวใหญ่มากๆ สังเกตุได้จากปากแทบจะงับตะหลิวได้ทั้งอันอยู่แล้ว ฮ่าๆ
ภายในบริเวณบ้านร่มรื่น มีพรรณไม้หลากหลายสายพันธุ์ ทั้งพืชผักสวนครัว และปลูกเพื่อความร่มรื่น
พวกเรายังได้ร่วมกันทำกิจกรรมทางการเกษตร ได้แก่ การทำไข่เค็มสมุนไพร การทำถั่วงอกไร้รากปลอดสารพิษ และการทำน้ำยาอเนกประสงค์
ซึ่งก็ได้เรียนรู้ตั้งแต่การเตรียมอุปกรณ์ วิธีการทำ และการนำไปใช้งาน ซึ่งพวกเราที่ได้ร่วมกันทำกิจกรรมก็สามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อได้ หรืออาจจะนำไปต่อยอดทำเป็นอาชีพเลยก็ได้สบายๆ ครับ
เสร็จจากกิจกกรรมเราก็จะพาไปรับประทานอาหารเย็นกันที่ร้านบ้านฝ้าย เป็นร้านอาหารขนาดใหญ่พอสมควร บรรยากาศดี อาหารอร่อย ว่าแล้วท้องก็เริ่มร้อง ขอตัวไปรับประทานอาหารก่อนนะครับ
28 ตุลาคม 2555 วันสุดท้ายของการมาแอ่วเมืองแป้แล้ว
ไหนๆ ก็ไหนๆ ก่อนที่เราจะแยกจากกัน ก็ขอถ่ายรูปหมู่ไว้เป็นที่ระลึกกันสักหน่อย : )
และที่สุดท้ายที่เราจะพาไปก็คือพิพิธภัณฑ์เสรีไทยจังหวัดแพร่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยนายภุชงค์ กันทาธรรม บุตรของนายทอง กันทาธรรม อดีตหัวหน้าเสรีไทย สายแพร่ ก่อตั้งขึ้นเพื่อแสดงเรื่องราวที่สำคัญในอดีตของชาวจังหวัดแพร่ โดนเฉพาะในช่วงที่เกิดขึ้นระหว่างสงครามของเอเชียบูรพา หรือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การเสียสละที่ยิ่งใหญ่เพื่อชาติ มีรูปภาพและข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย แสดงถึงความสมัครสมาน สามัคคี ความร่วมมือ ร่วมใจเพื่อประเทศชาติ และเพื่อเป็นการแสดงความเคารพคารวะต่อบรรพบุรุษผู้กล้าหาญของเมืองแพร่ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมฟรีทุกวัน
หลังจากชมพิพิธภัณฑ์เสรีไทยจังหวัดแพร่เสร็จ ก็ได้เวลาเดินทางกลับกันแล้วหล่ะครับ ระยะเวลา 3 วัน 2 คืนที่ได้มาเยือนแพร่ในครั้งนี้ นับว่าคุ้มค่ามากๆ เลยครับ ได้ทั้งท่องเที่ยวสถานที่สำคัญๆ ของจังหวัดแพร่ สัมผัสบรรยากาศของเมืองแพร่ และที่สำคัญเราได้ใกล้ชิดกับคนที่นี่ ได้เรียนรู้ ได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างที่นอกเหนือจากการท่องเที่ยวทั่วๆ ไป ที่สำคัญที่สุดสำหรับทริปนี้ผมว่าเป็นมิตรภาพระหว่างการเดินทางที่ผู้ร่วมทริปทุกคนมอบให้ซึ่งกันและกัน ขอบคุณผู้ร่วมทริปทุกท่านสำหรับการเดินทางครั้งนี้ หวังว่าเราจะได้กลับมาร่วมเดินทางกันอีกครั้งครับ สวัสดีครับ : )
16 Comments
Nongpon2012
แพร่…แห่ระเบิด มีที่มาอย่างไร ค่ะ
LuisPhotography
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ระเบิดที่ถูกเอาทิ้งแล้วไม่ระเบิด มีชาวบ้านไปพบแล้วนำระเบิดไปผ่าเอาดินปืนออกไปทำระเบิดลูกเล็กๆ ใช้ระเบิดปลาในแม่น้ำ ก็จะเหลือแต่ตัวถึงที่เป็นเหล็กชาวบ้านจังจะนำไปถวายวัดเพื่อใช้ทำเป็นระฆัง ระหว่างทางที่ลากระเบิดไปนั้นก็มีชาวบ้านมาสมทบในขบวนขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นขบวนแห่ขึ้นมา ที่มาคร่าวๆ ก็ประมาณนี้แหละครับ
Pingback: ทัวร์น่าน | บริษัททัวร์คุณภาพ
Pingback: ทัวร์เชียงราย เที่ยวเชียงราย 3วัน2คืน 2556/2557 | บริษัททัวร์คุณภาพ
Pingback: ทัวร์น่าน เชียงราย 3วัน2คืน 2556 | บริษัททัวร์คุณภาพ
Pingback: ทัวร์เชียงราย ภูชี้ฟ้า | บริษัททัวร์คุณภาพ ในประเทศเเละต่างประเทศ
Pingback: ทัวร์น่าน เชียงราย 3วัน2คืน 2557 | บริษัททัวร์คุณภาพ
Pingback: ทัวร์น่าน ภูชี้ฟ้า 2557/2558 | บริษัททัวร์คุณภาพ
Pingback: ทัวร์น่าน เชียงราย 3วัน2คืน 2557 | บริษัททัวร์คุณภาพ
Pingback: ทัวร์น่าน ภูชี้ฟ้า 3วัน2คืน 2557 | บริษัททัวร์คุณภาพ
Pingback: ทัวร์เชียงราย 3วัน2คืน 2557 | บริษัททัวร์คุณภาพ
Pingback: ทัวร์เชียงราย 3วัน2คืน 2557 | บริษัททัวร์คุณภาพ
Pingback: ทัวร์เชียงราย วันพ่อและวันปีใหม่ 2557 | บริษัททัวร์คุณภาพ
Pingback: ทัวร์เชียงราย เที่ยวเชียงราย 3วัน2คืน 2557 | บริษัททัวร์คุณภาพ
Pingback: ทัวร์เชียงราย | ทัวร์เชียงราย เที่ยวเชียงราย เเพ็คเกจทัวร์ คุณภาพ
Pingback: ทัวร์เชียงราย เที่ยวเชียงราย 2557/2558 3วัน2คืน | ทัวร์เชียงราย เที่ยวเชียงราย เเพ็คเกจทัวร์ คุณภา